หูตึง คือ การที่เราไม่สามารถได้ยินเสียง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดความบกพร่องในการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ถึงแม้ว่าหูตึงจะถูกมองว่าเป็นความพิการอย่างหนึ่ง ผู้ที่มีปัญหาหูตึงและการสูญเสียการได้ยินก็มีวิธีการให้ตัวเองสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ภาษามือ การผ่าตัดรักษา หรือแม้กระทั่งการใช้เครื่องช่วยฟัง แล้วหูตึงหรือความบกพร่องทางการได้ยิน มีกี่ประเภทมาศึกษาและทำความรู้จักเอาไว้ก่อนจะสูญเสียการได้ยิน

ความบกพร่องทางการได้ยินหรือปัญหาการสูญเสียการได้ยิน จะมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่

  • การนำเสียงบกพร่อง

ความบกพร่องทางการได้ยินประเภทการนำเสียงบกพร่อง เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในหูชั้นนอกและชั้นกลาง มักจะมีอาการ ดังนี้ มีของเหลวออกจากช่องหูอาจจะเป็นเลือดหรือหนอง เคยมีประวัติการอักเสบของช่องหูมาก่อน และมีการพูดคุยด้วยเสียงที่เบา ทุ้มและนุ่มนวล การได้ยินจะยังคงชัดเจนดีเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงรบกวนจอแจ แต่ไม่สามารถได้ยินอย่างชัดเจนเมื่ออยู่ในที่ที่เงียบสงบ มีปัญหาการฟังในขณะเคี้ยวอาหาร และอาจมีเสียงต่ำๆ รบกวนในหู สามารถพูดจาและออกเสียงได้ตามปกติ จะตรวจพบว่ามีการสูญเสียการได้ยินอยู่ในช่วงความถี่ต่ำซึ่งจะไม่มากกว่า 60 เดซิเบล การนำเสียงบกพร่องมักจะมีสาเหตุมากจาก ความผิดปกติที่หูชั้นนอก ไม่ว่าจะเป็น หูพิการตั้งแต่กำเนิด มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดตันในช่องหู ขี้หูอุดตัน ผนังช่องหูอักเสบบวมจนช่องหูตีบตัน โรคเนื้องอกในช่องหูชั้นนอก ช่อง

หูพับลง เกิดความผิดปกติที่แก้วหู มีรูทะลุที่เยื่อแก้วหู แก้วหูอักเสบ หรือเยื่อแก้วหูหนา เกิดจากความผิดปกติในหูชั้นกลาง มีเลือดออกในหูชั้นกลาง โรคหูน้ำหนวก หูชั้นกลางมีหินปูนจับแข็ง ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัส หรือกระดูก 3 ชิ้นแตกหัก

  • ประสาทรับฟังเสียงบกพร่อง

ความบกพร่องทางการได้ยินประเภทประสาทรับฟังเสียงบกพร่อง เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในหูชั้นในหรือประสาทรับฟังเสียง หูตึงประเภทนี้มักจะมีอาการไม่ได้ยินเสียงตัวเอง เพราะมีการสูญเสียของประสาทหูมากทั้ง 2 ข้างจึงทำให้เสียงพูดดังกว่าปกติ มีเสียงแหลมๆ รบกวนในหูสามารถได้ยินเสียงพูดได้ดีเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบและไม่สามารถได้ยินได้อย่างชัดเจนเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีเสียงรบกวน ไม่สามารถเข้าใจคำพูดได้ถึงแม้ว่าจะพูดด้วยเสียงที่ดังมากแล้วก็ตาม มีอาการวิงเวียนศรีษะจนบ้านหมุนร่วมด้วย ไม่มีประวัติการปวดหู ไม่มีของเหลวไหลออกจากหู ตรวจพบการสูญเสียการได้ยินในช่วงความถี่สูงๆ หูตึงประเภทนี้มักมีสาเหตุมากจากประสาทรับฟังเสียงมีความบกพร่องมาตั้งแต่กำเนิด ประสาทรับฟังเสียงบกพร่องอันมีสาเหตุมาจากการใช้ยาบางชนิด ประสาทรับฟังเสียงบกพร่องจากเสียงดังๆ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของปริมาณของเหลวในหูชั้นใน ประสาทหูบกพร่องในวัยชรา หรือศรีษะกระทบกระเทือนจะส่งผลกระทบต่อประสาทรับฟังเสียง

  • การรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม

หูตึงหรือความบกพร่องทางการได้ยินประเภทการรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม เป็นความผิดปกติที่เกิดจากระบบการนำเสียงร่วมกับประสาทรับเสียงบกพร่อง พบในผู้ที่มีความพิการที่หูชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน ร่วมกัน ตัวอย่างเช่น โรคหูน้ำหนวกเรื้อรังและอาการลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน โรคหินปูนจับแข็งที่กระดูกโกลน